วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563

ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ


            การนำเทคโนโลยีสารนิเทศมาใช้กับสังคมสารนิเทศใน ปัจจุบันก่อให้เกิดการสื่อสารและการใช้ประโยชน์ จากสารนิเทศได้อย่างเต็มที่  และมีประสิทธิภาพ  ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารนิเทศมีดังต่อไปนี้ คือ
             1. ช่วยให้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างสะดวกรวดเร็ว โดยใช้โทรศัพท์  คอมพิวเตอร์หรือในรูปของ สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ

             2. ช่วยในการจัดระบบข่าวสารจำนวนมหาศาล ซึ่งผลิตออกมาในแต่ละวัน

             3. ช่วยให้เก็บสารนิเทศไว้ในรูปที่สามารถเรียกใช้ได้ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างสะดวก

           4. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสารนิเทศ เช่น ช่วยนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร  ด้วยการช่วยคำนวณตัวเลขที่ยุ่งยาก ซับซ้อนซึ่งไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยมือ

              5. ช่วยให้สามารถจัดระบบอัตโนมัติเพื่อการเก็บ เรียกใช้และประมวลผลสารนิเทศ

              6. สามารถจำลองแบบระบบการวางแผนและทำนาย เพื่อทดลองกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น

    7. อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสารนิเทศดีกว่าสมัยก่อน ทำให้ผู้ใช้สารนิเทศมี ทางเลือกที่ดีกว่า มีประสิทธิภาพกว่า และสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ดีกว่า
              8. ลดอุปสรรคเกี่ยวกับเวลาและระยะทางระหว่างประเทศ
           เทคโนโลยีสารนิเทศเบื้องต้นที่ควรนำมาใช้ในการดำเนินงานทั่วๆไป คือการใช้เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ในการจัดการข้อมูล
          ในบรรดาองค์ประกอบของเทคโนโลยีสารนิเทศทั้งหมดคอมพิวเตอร์นับว่ามีบทบาทมากที่สุดต่อการเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สื่อสารนิเทศที่มีบทบาทอย่างมากต่อสังคมสารนิเทศคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงสภาพการให้บริการสารนิเทศในห้องสมุดจากการเสียเวลาสืบค้นสารนิเทศหลาย ๆ นาทีหรือหลายชั่วโมงมาเป็นเสียเวลาเพียงไม่กี่วินาที คอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตที่มีบทบาทยิ่งกว่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่มนุษย์ได้ผลิตขึ้นใช้ในโลกมาก่อน คนในสังคมสมัยสังคมสารนิเทศจะเห็นพัฒนาการด้านนี้ได้อย่างเด่นชัด นับตั้งแต่มีการประดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก คอมพิวเตอร์ไม่ใช่เพียงสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น   แต่กลับเป็นสิ่งที่คนในสังคมสารนิเทศต้องรู้จักและมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นอุปกรณ์และองค์ประกอบที่สำคัญของเทคโนโลยีสารนิเทศที่บรรณารักษ์จะต้องนำมาใช้อยู่ตลอดเวลา เครื่องคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ ตั้งแต่ยุคแรก (พ.ศ.  2487-2501) จนถึงยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา) ได้มีการนำเครื่อง  คอมพิวเตอร์มาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เช่น งานจัดการเอกสารข้อมูลแบบ ต่าง ๆ งานระบบสารนิเทศเพื่อการจัดการและงานด้านระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System) เป็นต้น และจากการแข่งขัน  ในการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์มีราคาถูก  และสามารถใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นในสังคมสารนิเทศปัจจุบัน

           ในสังคมสารนิเทศปัจจุบัน กล่าวได้ว่า คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาท  ในชีวิตประจำวันของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น บทบาทของคอมพิวเตอร์มีมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการสารนิเทศ  และสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการสารนิเทศเพื่อใช้ประโยชน์ กับตนเองก็หลีกเลี่ยงการ ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ด้านอื่น ๆ ไม่ได้บทบาทของคอมพิวเตอร์ที่มีต่อการใช้สารนิเทศในสังคมมีดังต่อไปนี้
ด้านการศึกษา
            การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการศึกษา แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษา   และใช้เป็นเครื่องมือในการสอน  การใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาเกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษา ซึ่งผู้บริหารการศึกษา จำเป็นต้องทราบสารนิเทศต่าง ๆ ทางด้าน นักศึกษา ด้านแผนการเรียน ด้านบุคลากร ด้านการเงิน และด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์  ข้อมูลแต่ละด้านที่ได้จากคอมพิวเตอร์ ผู้บริหารการศึกษาสามารถนำมาใช้ช่วย ในการตัดสินใจได้ การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเป็นเครื่องมือในการสอน  เป็นการช่วยให้ครูใช้ความรู้ ความสามารถพิเศษให้เป็นประโยชน์แก่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น  การนำคอมพิวเตอร์เข้า มามีส่วนช่วยในการสอน  และการศึกษามีประโยชน์ในเรื่องดังต่อไปนี้  คือ
1. เพื่อการสอนแบบตัวต่อตัว
2. เพื่อฝึกทักษะต่าง ๆ ในการเรียน
3. เพื่อการสาธิต
4. เพื่อการเล่นเกมและสถานการณ์จำลอง
5. เพื่อสอนงานด้านการเขียน
6. เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอน
7. เพื่อช่วยผู้เรียนที่มีปัญหาเฉพาะตัว
            ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์กำลังมีบทบาทต่อการศึกษาด้านภาษาเป็นเพราะว่าแต่เดิมมานั้น คอมพิวเตอร์มีบทบาทเฉพาะการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เพราะคอมพิวเตอร์ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษแต่ในขณะนี้สังคมข่าวสารไม่ได้สกัดกั้นในการรับรู้สารนิเทศในภาษาอื่น ๆ  มีการสร้างโปรแกรมภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน รัสเซีย สเปน และแม้แต่ภาษาทางด้านตะวันออก เช่น ภาษาอารบิค  จีน ฮิบรู ญี่ปุ่น เกาหลี การสร้างโปรแกรมภาษาต่าง ๆ จัดทำโดยผู้ที่รู้ภาษานั้น ๆ โดยตรงหรือผู้ที่สนใจในการสร้างโปรแกรมภาษาต่าง ๆ เช่น  การสร้างโปรแกรม การใช้ภาษาไทย หรือ ภาษาลาว ตลอดจนการใช้โปรแกรมภาษาพม่า  ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยวิศวกรไทย คอมพิวเตอร์จะเป็นตัวกลางในการขจัดปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจภาษาระหว่างชนชาติในอนาคต ในประเทศสหรัฐอเมริกา  คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีบทบาทในด้านการศึกษามีการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้นในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามีการคาดหมายว่าจะมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในชั้นเรียน จาก 1:40 ในปี พ.ศ. 2529 เป็น 1 ต่อ 20 ภายในปี พ.ศ. 2533 คอมพิวเตอร์มีบทบาทต่อการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร ทางด้านการศึกษาได้ เป็นอย่างดีไม่เฉพาะแต่ภายในสถานศึกษาเท่านั้น  บริษัทเอกชนต่าง ๆ  สามารถนำคอมพิวเตอร์ มาใช้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของตนให้ได้รับการศึกษาหรือฝึกอบรมในงานหน้าที่ได้เป็นอย่างดีด้วย  การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาจะเป็นเรื่องธรรมดาในระบบการศึกษาต่อไป
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข


          คอมพิวเตอร์มีบทบาทอย่างสูงทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข   คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกอย่างยิ่งในด้านการแพทย์ เริ่มตั้งแต่การรักษาพยาบาลทั่ว ๆไป โรงพยาบาลบางแห่งใช้คอมพิวเตอร์ในการทำทะเบียนคนไข้ตลอดจนการวินิจฉัย และรักษาโรคต่าง ๆ   จากการใช้ประโยชน์ของสารนิเทศที่ได้ จากเครื่องคอมพิวเตอร์การใช้คอมพิวเตอร์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอาจเกี่ยวข้องในด้านต่อไปนี้ คือ  ด้านการ รักษาพยาบาลทั่วไป  ด้านการบริหารการแพทย์ ด้านห้องทดลอง ด้านตรวจวินิจฉัยโรค  และด้านการศึกษา และวิจัยทางการแพทย์ การใช้ข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญในปัจจุบันคือด้านวินิจฉัยโรคและด้านการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์   นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถค้นคว้าข้อมูลทางการแพทย์เพิ่มเติมได้ตลอดเวลาเป็นการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และการสาธารณสุขอย่างไม่หยุดยั้ง  คอมพิวเตอร์มีบทบาทต่อการให้ข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยโรคสำหรับทำการรักษาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น   ในวงการแพทย์เริ่มรู้จักใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ เรียกว่า  อีเอ็มไอสแกนเนอร์  (EMI Scanner) เมื่อปี พ.ศ. 2515 เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ใช้ถ่ายภาพสมองมนุษย์เพื่อตรวจดูเนื้องอก  พยาธิ เลือดออกในสมองและความผิดปกติอื่น ๆ ในสมอง ต่อมาได้พัฒนาให้ถ่ายภาพหน้าตัดได้ทั่วร่างกาย เรียกชื่อว่าซีเอที (CAT-Computerized Axial Tomographic Scanner) มีวิธีการฉายแสงเป็นจังหวะไปรอบ  ๆ ร่างกายของมนุษย์ที่ต้องการ ถ่ายเอกซเรย์และเครื่องรับแสงเอ็กซเรย์ที่อยู่ตรงข้ามจะเปลี่ยนแสงเอกซเรย์ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าไปเก็บไว้ในจานหรือแถบแม่เหล็กแล้ว นำสัญญาณไฟฟ้าเหล่านี้เข้าไปวิเคราะห์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อได้ผลลัพธ์ออกมาก็นำไปเก็บในส่วนความจำ และพิมพ์ภาพออกมาหรือแสดงเป็นภาพทางจอโทรทัศน์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จึงเป็นตัวอย่างของการใช้คอมพิวเตอร์ในการวินิจฉัยและรักษาโรค
ด้านอุตสาหกรรม


           คอมพิวเตอร์มีส่วนช่วยพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม   โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อใช้ในบ้านและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ทั้งนี้หุ่นยนต์จะเป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบการทำงานของอวัยวะ ส่วนบนของมนุษย์ประกอบด้วยระบบทางกลของหุ่นยนต์และระบบควบคุมหุ่นยนต์ ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมซึ่งควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์โดยอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ นับเป็นส่วนสำคัญที่สุดของหุ่นยนต์ ระบบควบคุมนี้ทำหน้าที่เป็นสมองเก็บข้อมูลสั่งหุ่นยนต์ให้ทำงานตรวจสอบและควบคุมรายละเอียดของการทำงานให้ถูกต้อง  การประดิษฐ์หุ่นยนต์อุตสาหกรรมอำนวยประโยชน์ในการช่วยทำงานในอุตสาหกรรมที่สำคัญคืองานที่ต้องเสี่ยงภัยและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  เช่น โรงงานยา ฆ่าแมลง โรงงานสารเคมี  งานที่ต้องการความละเอียดถูกต้อง และรวดเร็ว เช่น โรงงาน ทำฟันเฟืองนาฬิกา โรงงานทำเลนส์กล้องถ่ายรูป  และงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ  และ น่าเบื่อหน่าย  เช่น โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานประกอบวงจรเบ็ดเสร็จ หรือไอซี และโรงงานทำแบตเตอรี่ เป็นต้น การประดิษฐ์สิ่งของหรือผลิตภัณฑ์บางอย่าง ในโรงงานอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่อการ ควบคุม การผลิตสินค้าโดยไม่ต้องใช้แรงงานคนมาก  เป็นการประหยัดแรงงาน  นอกจากด้านการผลิตสินค้าแล้ว คอมพิวเตอร์ยังมีส่วนช่วยต่อการจัดส่งสินค้าตามใบสั่งสินค้า การควบคุมวัสดุคงคลัง และการคิดราคาต้นทุนสินค้า เป็นต้น
ด้านเกษตรกรรม


             การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม ได้แก่ การจัดทำระบบข้อมูลเพื่อการเกษตร ซึ่งอาจมีทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติสำหรับระดับนานาชาตินั้น  อาจจะเริ่มด้วยสำมะโนเกษตรนานาชาติ ซึ่งสถาบันการเกษตรระหว่างประเทศ (International Institute of Agriculture) ได้เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2473โดยมีประเทศต่าง  ๆ ร่วมเก็บข้อมูลรวม 46 ประเทศ ต่อมาองค์การอาหารและเกษตร(FAO)  ได้ดำเนินงานต่อในปี พ.ศ. 2493 และมีประเทศต่าง ๆ ร่วมโครงการเพิ่มเติมมากขึ้น  ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ข้อมูลเพื่อเกษตรกรรมทางด้านสำมะโนเกษตร    นอกจากนี้ยังใช้คอมพิวเตอร์ช่วยทำแบบจำลอง พยากรณ์ความต้องการพยากรณ์ผลผลิตด้านการเกษตร เป็นต้น
ด้านการเงินการธนาคาร


            การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการเงินและการธนาคาร เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในงานด้านการบัญชี และด้านการบริหาร  การฝากถอนเงิน  การรับจ่าย การโอนเงิน แบบอิเล็กทรอนิกส์  การหักบัญชีอัตโนมัติ ด้านสินเชื่อ ด้านแลกเปลี่ยนเงินตรา บริการข่าว สารการธนาคาร บริการฝากถอนเงินนอกเวลาและบริการอื่น ๆ การใช้คอมพิวเตอร์ด้านการเงินการธนาคารที่ประชาชนรู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลาย  ได้แก่  บริการฝากถอนเงินนอกเวลา ซึ่งมีใช้กันทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย  ซึ่งเรียกชื่อว่า  บริการเงินด่วน  หรือบริการเอทีเอ็ม 
( Automatic Teller Machine - ATM ) ที่ธนาคารต่าง ๆ สามารถให้บริการเงินด่วนแก่ลูกค้าได้ ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วต่อการใช้เงินในการดำเนินงานทางธุรกิจต่างๆได้
ด้านธุรกิจการบิน


             ธุรกิจสายการบินมีความจำเป็นต้องนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อให้สามารถให้บริการได้รวดเร็ว  เพื่อการแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ และเพื่อรักษาความปลอดภัยในการบินโดยช่วยตรวจสอบสภาพเครื่องและอุปกรณ์ได้ อย่างถูกต้องแน่นอนและสม่ำเสมอ ธุรกิจที่มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ด้านการบิน  อาจแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ผู้โดยสาร สินค้าพัสดุภัณฑ์ และ บริการอื่นๆของสายการบิน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือระบบบริการผู้โดยสาร อาจจะเริ่มด้วยระบบบันทึกตารางการบิน ซึ่งบันทึกและเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลเที่ยวบิน เส้นทางบิน เวลาออกและเวลาถึง จำนวนที่นั่ง สารนิเทศด้านการบริการผู้โดยสารมีความสำคัญอย่างมาก  และจำเป็นต้องได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็ว  โดยปราศจากปัญหาทางด้านเวลา  และสถานที่  รายการบินต่าง ๆ จึงได้แข่งขันในการสร้างฐานข้อมูล ทางด้านนี้ บางสายการบินได้รวมตัวกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้สารนิเทศร่วมกัน

ด้านกฎหมายและการปกครอง


             ทางด้านกฎหมายและการปกครอง มีการใช้คอมพิวเตอร์แก้ปัญหาด้านกฎหมาย  คืองานระบบข้อมูลทางกฎหมายมีการนำสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมายทุกฉบับ รัฐธรรมนูญทุกฉบับ  กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด 
พระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวงประกาศต่างๆและอื่น ๆ เข้าคอมพิวเตอร์ทั้งหมด หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์จะช่วยในการค้นสารนิเทศทางด้านกฏหมายได้อย่างรวดเร็ว  ดังตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการใช้คอมพิวเตอร์ระบบแอสเปน (Aspen System Corporation) ซึ่งเป็นระบบข้อมูลทางด้านกฎหมายที่ใช้กันมากกว่า  50 แห่ง นักกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงได้ประโยชน์ในการค้นสารนิเทศในเวลาอันรวดเร็ว   
โดยเฉพาะในการค้นข้อมูลเกี่ยวกับคดีต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เป็นต้น  แทนที่จะค้นจากหนังสือ ซึ่งต้องเสียเวลาเป็นอันมาการใช้คอมพิวเตอร์ทางด้านการปกครองส่วนใหญ่ใช้ในกิจกรรมการเลือกตั้งดัง เช่นในประเทศไทย เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาล่าสุด มีการใช้คอมพิวเตอร์มาประมวลผลข้อมูลการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนได้ทราบผลการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว
ด้านการทหารและตำรวจ


            มีการใช้คอมพิวเตอร์ด้านการทหารและตำรวจอย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ  ในประเทศสหรัฐอเมริกา การใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการทหารได้เจริญก้าวหน้าไปมากกว่าประเทศอื่นใดในโลกแต่ผลงานด้านนี้มักจะเป็นผลงานชนิดลับสุดยอดต่าง ๆ เท่าที่พอจะทราบกัน  ได้แก่  การใช้คอมพิวเตอร์ในวงจรสื่อสารทหาร  ใช้ในการควบคุม ประสานงาน ด้านการท หารใช้แปลรหัสลับในงานจารกรรมระหว่างประเทศ ใช้ในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์  ใช้ในการทำสงครามจิตวิทยา  ใช้ในการวิจัยเตรียมทำสงครามเชื้อโรค  ใช้ในการสร้างขีปนาวุธ    และใช้ในการส่งดาวเทียม จารกรรม  เป็นต้น กรมตำรวจ กระทรวง มหาดไทย มีศูนย์ประมวลข่าวสารกรมตำรวจ  มีคอมพิวเตอร์ ขนาดกลางใช้ทำทะเบียนปืน ทำทะเบียนประวัติอาชญากรรม ทำให้เกิดความสะดวกต่อการสืบสวนคดีต่าง ๆ 
ด้านอุตสาหกรรมการพิมพ์และธุรกิจอื่น ๆ


              บทบาทของคอมพิวเตอร์ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการพิมพ์ในปัจจุบันมีมาก หน่วยงานทางการพิมพ์  ตลอดจนสำนักข่าวใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการจัดพิมพ์ต้นฉบับตรวจแก้ไข  จนกระทั่งจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม ทำให้การจัดทำหนังสือพิมพ์ วารสาร และหนังสือต่าง ๆดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว และถึงมือผู้อ่านได้อย่างทันท่วงที อุตสาหกรรมการพิมพ์เป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศต่าง ๆ อยู่ในขณะนี้ และเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารนิเทศ มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่คนงานในประเทศ สหรัฐอเมริกากว่า 50  ล้านคน ได้ใช้ประโยชน์จากการใช้คอมพิวเตอร์ ในการดำเนินงาน ทางธุรกิจ มีการใช้อุปกรณ์สื่อสารระบบสำนักงาน อัตโนมัติและเทคโนโลยีโทรคมนาคมอื่น ๆ ร่วมกับคอมพิวเตอร์ทำให้การดำเนินงานทาง ธุรกิจต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจต่างๆไม่มีปัญหาทางด้านระยะเวลาและสถานที่ต่อการติดต่อทางธุรกิจอีกต่อไป
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
             การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์มีมากในสถาบันการศึกษา ตลอดจนสถาบันวิจัยต่างๆมีการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการวิจัยทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์  เช่น  การวิจัยในทางนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของสสาร  
การค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น  ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์มีการใช้คอมพิวเตอร์ ให้มีส่วนร่วมต่อการออกแบบโครงสร้าง ทางวิศวกรรมที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน  ทำให้มีส่วนช่วยต่อการออกแบบทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด บทบาทของคอมพิวเตอร์ทางด้านวิทยาศาสตร์จึงมี ประโยชน์ต่อการพัฒนาข้อมูลสารนิเทศอย่างไม่หยุดยั้ง
              จากการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลสารนิเทศโดยระบบโทรคมนาคมคอมพิวเตอร์มีบทบาทอย่างสูง ต่อการให้บริการข้อมูลอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด  ผู้ใช้สารนิเทศสามารถเรียกค้นข้อมูลจากผู้ให้บริการสารนิเทศตั้งแต่เรื่องทั่ว ๆไปจนกระทั่งขอค้นรายละเอียดจากหนังสือสารานุกรมได้  และภายในบ้านเรือนคอมพิวเตอร์มีบทบาทต่อการใช้ของสมาชิกภายในครอบครัวทุกคนภายในบ้านมีโอกาสได้เล่นเกมวีดิทัศน์ ด้วยความบันเทิงสนุกสนาน และ ศึกษาความรู้จากบทเรียนสำเร็จรูปไปด้วยในตัว  คอมพิวเตอร์สำหรับบ้าน เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็น สำหรับนักธุรกิจในการจัดเตรียมจดหมาย การจัดเก็บรวบรวมข้อมูลสารนิเทศส่วนบุคคล และ การดำเนินงานกิจการต่าง ๆ ของสมาชิกภายในครอบครัว  บทบาทของคอมพิวเตอร์  ยังมีอีกมากมายทางด้านต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้สารนิเทศ ต้องการใช้ในด้านใด คอมพิวเตอร์เมื่อนำมาใช้รวมกับระบบโทรคมนาคมการสื่อสาร สามารถจะเปลี่ยนอนาคตของสังคมปัจจุบัน เปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนต่อการทำ กิจกรรมต่าง ๆ  สิ่งที่บรรณารักษ์จะหลีกเลี่ยงต่อไปไม่ได้  คือการนำเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดการข้อมูล ภายในห้องสมุดโรงเรียน นับตั้งแต่การนำมาใช้แทน เครื่องพิมพ์ดีดในขอบเขตของงานเอกสาร ตลอดจนกระทั่งถึงงานการให้บริการข้อมูลจากฐานข้อมูลสำเร็จรูป หรือ งานฐานข้อมูลที่สร้างขึ้นเอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น